“ ยาส้ม ” เป็นยาที่ท่านพระอาจารย์ชอบใช้มากขนานหนึ่ง วิธีทำยากมาก เวลาจะทำต้องเสียเวลาตระเตรียมกันเป็นเวลานาน และการทำบางครั้งก็ขัดข้อง พอจ่ายยาใกล้จะหมด พระอาจารย์จะต้องสั่งให้จัดการกลั่นไว้ใหม่ เผื่อว่าใครมาขอจะได้มีให้ ทั้งนี้ก็ด้วยความเมตตาอันยิ่งใหญ่ของท่าน ( “ ส้ม ” ในภาษาอีสารแปลว่า “ เปรี้ยว ” เพราะนั้นยาส้มก็คือยาเปรี้ยว แต่ยานี้เปรี้ยวเพราะกรดบางอย่าง ไม่ใช่เพราะมะกรูดหรือมะนาว )
ให้เอา เกลือ สารส้ม ดินประสิว จุนสีสี่อย่างนี้อย่างละเท่า ๆ กัน อย่างน้อยต้องหนักอย่างละ ๑๐ บาท ( ๑๕๐ กรัม ) ทั้งนี้สุดแต่ภาชนะที่ใช้กลั่นจะบรรจุได้มากเท่าใด ถ้าภาชนะที่จะใช้บรรจุลงได้มาก จะเอาอย่างละมาก ๆ ก็ได้ แต่ต้องให้มีน้ำหนักเท่ากัน ไม่ให้ขาดหรือเกิน เป็นต้นว่า ใช้เกลือหนัก ๑ กก. อีกสามอย่างก็ต้องชั่งให้ได้ ๑ กก. เท่ากันหมด
วิธีทำ การต้มกลั่นต้องใช้ภาชนะที่ทนต่อความร้อน ห้ามเอาภาชนะที่เป็นโลหะ เท่าที่ท่านพระอาจารย์ท่านเคยทำ ท่านใช้ไหกระเทียมสมัยก่อนที่มาจากเมืองจีน หม้อดินก็ใช้ไม่ได้ เมื่อไดภาชนะที่จะกลั่นมาแล้วก็เอาตัวยาทั้งสี่อย่างบรรจุลงไป ไม่ต้องผสมน้ำใช้กลั่นแห้ง ๆ ตามสภาพของตัวยา ใช้ไหกระเทียมอีกลูกหนึ่งมาเป็นภาชนะรองรับน้ำยา ใช้หลอดแก้วใสเป็นท่อต่อระหว่างปากไหทั้งสอง ถ้าไม่มีหลอดแก้วจะใช้ขวดแก้วขาดตัดกันออก แทนก็ได้ เอาก้นขวดใส่ทางปากไหที่ใส่ตัวยา เอาปากขวดใส่ทางไหที่รองรับ ปิดปากไหทั้งสองด้วยดินเหนียวที่นวดไว้อย่างดี ให้แน่นหนาสนิท การกลั่นต้องรักษาระดับไฟ ในระยะแรกต้องไม่เร่งจนเกินไป ค่อย ๆ เร่งไปให้ร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ถ้าเร่งไฟให้รอนมากจนเกิน อาจทำให้ระเบิดได้ ส่วนไหที่รองรับน้ำยานั้นก็ต้องใช้ความเย็นช่วย โดยเอาผ้าชุบน้ำคลุมไว้แล้วน้ำเย็นลดให้เย็นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ไอกลายเป็นหยดน้ำ และช่วยดูดไอมาจาไหที่กลั่นด้วย การกลั่นยาส้มนี้ถ้าตัวยามากก็ต้องใช้เวลามากหน่อยกว่ายาจะ “ จืด ” ก็ต้องเสียเวลาเป็นวันหรือทั้งวันทั้งคืน ถ้าจะดูว่ายาจืดหมดหรือยัง ให้สังเกตที่หลอดแก้ว ในตอนแรก ๆ จะมีควันสีขาว ๆ เมื่อตัวยาถูกความร้อนจัดเข้าจะละลายแล้วเดือดเต็มที่ ควันในหลอดแก้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ๆ ถ้าเร่งไฟร้อนจัดเกินไป ไฟจะเป็นสีเหลืองแก่และแดงลง ถ้าควันในหลอดแก้วออกเป็นสีแดงเข้มมากเกินไปให้ผ่อนไฟลงหน่อย ถ้าปล่อยนานจะเผาไหม้หมดก่อนและได้น้ำยาน้อย ขณะกำลังกลั่น ยากำลังเดือดและไอกำลังไหลออกมาตามหลอดแก้วนั้น ไหที่รองรับน้ำยาต้องรดน้ำให้เย็นอยู่ตลอดเวลา ระวังอย่าให้น้ำที่ทำความเย็นนั้นกระเซ็นไปถูกหลอดแก้วแก้วจะแตกเสียก่อน เมื่อตัวยาหมด ควันในหลอดแก้วจะกลับขาวขึ้น อีกครั้งหนึ่ง เมื่อตัวยาหมดแล้วให้ถอยไฟออก ทิ้งไว้ก่อนประมาณซักชั่วโมงหรือกว่านั้นก็ได้ เพื่อให้ความร้อนลดลง แล้วจึงค่อย ๆ แกะดินเหนียวที่หุ้มปากไหออก ที่ด้านไหนก็ได้แล้วแต่สะดวก ยกไหที่รองรับน้ำยาออกตั้งไว้ แล้วหาขวดมีฝาจุกเป็นแก้วมาบรรจุตัวยาเก็บไว้ต่อไป
สรรพคุณของยาส้ม อันยาส้มนั้นเป็นยาครอบจักรวาล ใช้แก้ได้หลายอย่าง เช่นแผลสด มีดบาดหรือตะปูตำ ใช้สำลีชุบยาส้มป้ายที่แผล แผลจะหาย ( แต่ต้องทนแสบเอานิดหน่อย ) แผลเปื่อยก็ใช้ได้ แต่ไม่ใช่หิดเปื่อยพุพอง แผลเปื่อยเรื้อรังต่าง ๆ เวลาใส่ยาใส่ยาส้มจะมีอาการแสบ เมื่อหายแสบแล้วแผลจะแห้งตกสะเก็ดหายไปเอง ถ้าจะแก้โรคต่าง ๆ เกี่ยวกับเลือด เป็นต้นว่าสตรีออกลูกแล้วอยู่ไฟไม่ได้ หรือคลอดบุตรแล้วเลือดตกมาก หรือเป็นมุตกิดระดูขาวผอมแห้งแรงน้อย มักเป็นลมหน้ามืดตาลาย ฯลฯ ให้ใช้ยาผสมน้ำสะอาด ( ถ้าได้น้ำฝนยิ่งดี ) พอให้มีรสเปรี้ยวเท่ากับน้ำมะนาวหรืออ่อนกว่านิดหน่อย รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ววันละสามเวลา รับไปเรื่อยจะหายเป็นปกติ โรคเกี่ยวกับสตรีนั้นใช้ได้ผลมาก อนึ่งโรคปวดท้องเกี่ยวกับมดลูกและอื่น ๆ ใช้เห็นสรรพคุณมามากแล้ว
ถ้าเป็นตาแดง เจ็บตา ตาแฉะ ให้เอาส้มผสมน้ำให้มีรสพอรู้สึกเปรี้ยว หยอดตา จะหายเจ็บหายแฉะ หายจากเป็นตาแดง ตามลำดับ
การใช้ยาส้มรักษายาภายนอก นอกจากรักษาบาดแผลแล้วยังแก้อสรพิษต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย เป็นต้นว่าตะขาบกัด แมลงป่องต่อย ปลาดุกยักก็เอายาส้มแก้ไขได้ ถ้างูพิษตะขาบหรือแมลงป่อง ใช้เข็มบ่งปากแผลให้มีเลือกออกนิดหน่อยเสียก่อน แล้วเอายาส้มใส่ที่แผล ความเจ็บปวดและอาการพิษอื่น ๆ จะหายในทันที
สำหรับแก้อาการปวดฟัน แมงกินฟัน รากฟันเน่า ใช้สำลีชุบยาส้มแปะที่รูของฟันหรือรากฟันที่เน่า อาการปวดจะหายเป็นปลิดทิ้ง ฟันเป็นรำมะนาด และลิ้นเป็นซางก็ใช้ยาส้มใส่ได้ผลดี ลิ้นเปื่อยเป็นแผลก็เช่นกัน อนึ่ง สำหรับโรคเกี่ยวกับฟันจะใช้กากของยาส้ม ( ที่เหลืออยู่ในไหที่ใช้กลั่น ) ก็ได้ กากนี้เอามาบดใช้แทนยาสีฟันก็ดี
การเก็บรักษา ตัวยาส้มเป็นกรดชนิดหนึ่ง จะบรรจุภายในภาชนะ ที่เป็นโลหะต่าง ๆ ไม่ได้ เช่นสังกะสีหรือดีบุกถ้าเอายาส้มใส่จะทะลุภายใน ๕ หรือ ๑๐ นาที ต้องใช้ภาชนะที่เป็นแก้วเก็บรักษาไว้ ฝาจุกก็ควรเป็นแก้วด้วย อย่าใช้ฝาจุกอย่างอื่นยาจะกัดผุหมด
หมายเหตุ ถ้ายาส้มหยดถูกเสื้อผ้าให้รีบเอาไป ซักน้ำโดยเร็วมิฉะนั้นผ้าจะขาด การใช้ยาส้มรักษาผ้าต่าง ๆ นั้นห้ามใช้ตัวยาล้วน ๆ นอกจากใช้รักษาแผลและแก้พิษร้ายต่าง ๆ ตามธรรมดาต้องเจือน้ำหลายเท่า เวลาคนมาขอท่านพระอาจารย์มักจะให้ยาที่เจือจางไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่ให้ตัวยาล้วน ๆ เพราะเกรงว่าเอาไปใช้ไม่ถูกจะเกิดอันตรายขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในโรคตาต้องเจือน้ำให้อ่อนที่สุด เพียงมีรสเปรี้ยวนิดหน่อยเท่านั้น